วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว 3 นครพนม - คำม่วน




สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย (นครพนม) กับประเทศลาว (คำม่วน) พื้นที่ฝั่งไทย ที่บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ฝั่งลาวอยู่ที่บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ควบคุมการก่อสร้างโดยสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง และบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัดเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างใช้งบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาลไทยทั้งสิ้น 1,723 ล้านบาท มีระยะเวลาการก่อสร้างรวม 900 วัน สะพานจะแล้วเสร็จในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดถึง 3 เดือน เมื่อสะพานแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้า และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จทรงเป็นประธานพิธีเปิดสะพานอย่า​งเป็นทางการร่วมกับประธานประเทศ​สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว​ ในวันที่ 11 เดือน 11 ปีค.ศ. 2011 (11-11-11) เวลา 11.11 น.







สถานที่สำคัญประจำจังหวัดนครพนม





ด่านตรวจคนเข้าเมือง อำเภอเมือง จ.นครพนม 
ด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร อำเภอเมือง เปิดทำการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. - 16.30 น. โดยทางปฏิบัติในการเดินทางเข้า-ออก ณ จุดผ่านแดนถาวร อ.เมือง จ.นครพนม



พระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร จ.นครพนม
แต่เดิมเป็นเรณูนคร ถิ่นที่อยู่ของชาวผู้ไทย ซึ่งยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี



วัดโอกาสศรีบัวบาน อำเภอเมือง จ.นครพนม 
ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงเขตเทศบาลเมืองนครพนม เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ บริเวณกลางวัดจะมีหอประดิษฐานพระติ้วกับพระเทียมอยู่คู่กัน



พระธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จ.นครพนม 
ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 98 กิโลเมตร เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า ประชาชนในท้องที่ใกล้เคียงเคารพนับถือมาก



พระธาตุศรีคุณ อำเภอนาแก จ.นครพนม
ห่างจากอำเภอธาตุพนมตามทางหลวงสาย 212 ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุศรีคุณซึ่งเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอนาแก



ดานสาวคอย อำเภอนาแก จ.นครพนม
ห่างจากอำเภอนาแกประมาณ 6 กิโลเมตร มีต้นไม้เบญจพรรณขึ้นประปราย เมื่อขึ้นถึงลานหินนี้แล้ว สามารถมองเห็นยอดพระธาตุพนม



วัดภูถ้ำพระ อำเภอนาแก จ.นครพนม 
อยู่ห่างจากบ้านนาแกน้อยไปประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ปราสาททอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ เดิมเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ใช้เป็นที่ปฏิบัติธุดงค์กรรมฐาน



พระบางวัดไตรภูมิ อำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม
เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร พุทธศิลปแบบลาว สูง 80 นิ้ว แท่นสูง 2 นิ้วครึ่ง ฐานรูป 8 เหลี่ยม สูง 15 นิ้ว และฐานตั้งอยู่บนช้าง 8 เชือก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2008 เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เชื่อกันว่าถ้านำออกมาแห่จะทำให้ฝนตก ประชาชนที่สนใจจะเข้าไปนมัสการต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน



บ้านนาจอก (บ้านลุงโฮ) อำเภอเมือง จ.นครพนม 
เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โฮจิมินห์ได้เคยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเจ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศเวียดนาม



สวนหลวง ร.9 จังหวัดนครพนม อำเภอเมือง จ.นครพนม
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครพนมทางด้านทิศเหนือ สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เป็นสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน



วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จ.นครพนม 
ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังรูปพุทธประวัติที่สวยงาม และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระแสง ข้าง ๆ โบสถ์มีเจดีย์บรรจุอัฐิของหลวงปู่จันทร์ (พระเทพสิทธาจารย์) พระเกจิอาจารย์ที่ชาวนครพนมเคารพนับถือ



วัดโพธิ์ศรี อำเภอเมือง จ.นครพนม 
ที่ประดิษฐานพระทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองสำริด ปางมารวิชัย และเป็นพระพุทธรูปโบราณสกุลช่างล้านช้าง



วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จ.นครพนม 
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง บนถนนสุนทรวิจิตร มีพระธาตุนครเป็นปูชนียสถาน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณ 5.85 เมตร สูงประมาณ 24 เมตร โดยพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) แม่ทัพใหญ่ที่มาจากเวียงจันทน์ และยังมีโบสถ์เก่าแก่สวยงามมาก



วัดพระธาตุมหาชัย อำเภอปลาปาก จ.นครพนม 
ประดิษฐานอยู่บ้านมหาชัย ตำบลมหาชัย ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 39 กิโลเมตร ตามเส้นทางนครพนม-สกลนคร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2276 เข้าวัดอีก 1.8 กิโลเมตร



พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จ.นครพนม
พระธาตุพนมถือเป็นพระธาตุปีเกิดของคนเกิดปีวอก และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้เกิดวันอาทิตย์ ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์



อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบ้านแพง จ.นครพนม
สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณและป่าแดงที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นต้นกำเนิดของน้ำตก และลำธารใหญ่น้อยหลายสาย



พระธาตุท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม 
อยู่บ้านท่าอุเทน ใกล้กับที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม สร้างเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นอุโมงค์บรรจุของมีค่าต่าง ๆ



สวนสาธารณะและหาดทรายทองศรีโคตรบูร อำเภอเมือง จ.นครพนม
เป็นหาดทรายน้ำจืดที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ในฤดูแล้ง (ราวเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม) หาดทรายจะยื่นออกไปกลางลำน้ำโขง



วัดนักบุญอันนา หนองแสง อำเภอเมือง จ.นครพนม 
ตั้งอยู่บนถนนสุนทรวิจิตร เลียบเขื่อนหน้าเมืองนครพนม สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1926

ประเพณี วัฒนธรรม ประจำจังหวัดนครพนม

วัฒนธรรมประเพณี 



งานบุญซำฮะ
"บุญซำฮะ" คือ บุญเดือนเจ็ด เป็นหนึ่งในงานประเพณีฮิตสิบสองคองสิบสี่ ขนบธรรมเนียมของชาวอีสานที่ได้มีการยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดกันมาช้านาน งานบุญซำฮะ (ชำระ) หรือบุญเบิกบ้าน เกิดตามความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงเดือนเจ็ดต้องทำบุญชำระจิตใจให้สะอาด และเพื่อปัดเป่ารังควาญสิ่งที่ไม่เป็นมงคลออกจากหมู่บ้าน บางท้องถิ่นเรียกประเพณีนี้ว่า บุญเบิกบ้าน ซึ่งมีพิธีกรรมทั้งทางศาสนาพุทธและตามความเชื่อท้องถิ่น เพื่อขอความคุ้มครองให้พ้นจากภัยพิบัติและช่วยขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามออกไป ให้ชุมชนเกิดความเป็นสิริมงคล สำหรับ "บุญซำฮะ" ที่จังหวัดนครพนมในทุกปี จะมีงานใหญ่ "วัดโอกาส" (ศรีบัวบาน) ตั้งแต่เช้าวันแรม 13 ค่ำ เดือน 7 เริ่มจากพระสงฆ์สวดทักทิศทั้งสิ่ของเมือง เพราะถือตามคตินิยมว่า โลกนี้ในแต่ละทิศจะมีเทพยดารักษา เรียกว่า ท้าวจตุโลกบาล ในช่วงบ่าย พราหมณ์จะทำธีสักการะบวงสรวง อัญเชิญเทวดามารับเครื่องสังเวยที่จัดเตรียมไว้ ผู้เข้าร่วมพิธีต้องแต่งกายชุดขาว พร้อมนำเทียนสีผึ้งสำหรับทำน้ำพุทธมนตร์คนละ 3 เล่ม เมื่อเสร็จแล้วจะประกอบพิธีไหว้พระ สมาทานศีล อาราธนาพระปริตมงคล พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์แบบโบราณจบแล้ว มีการเทศน์ชำระเพื่อขับส่งเสนียดจัญไรออกจากเมือง เป็นอันเสร็จพิธี



การฟ้อนผู้ไทย 
เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน โดยจะฟ้อนในงานเทศกาลเดือน 5 และเดือน 6 สมัยก่อนจะฟ้อนกันตามความถนัดและความสามารถแต่ละบุคคล ไม่ได้เน้นความเป็นระเบียบหรือความพร้อมเพรียงกัน แต่เน้นลีลาการฟ้อนรำของชายหญิงคู่กัน ยึดการรำแบบดั้งเดิมเป็นหลัก นับเป็นศิลปะที่สวยงามหาชมได้ยากในปัจจุบัน นอกจากนี้ชาวผู้ไทยยังมีการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง การชวนดูดอุ สำหรับ การฟ้อนผู้ไทยและการเลี้ยงอาหารแบบพาแลงนี้ สามารถติดต่อชมได้ที่บ้านผู้ไทย คุณชัยบดินทร์ สาลีพันธ์ อำเภอเรณูนคร โทร. 0 4257 9174 , 0 1263 2458 (การฟ้อนภูไทยและการเลี้ยงอาหารแบบพาแลง ต้องมีการจองตั้งแต่ 35 คนขึ้นไป)



การแข่งเรือ 
ส่วงเฮือ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษามีความมุ่งหมายให้ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกันก่อให้เกิดความสามัคคีความเสียสละ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวลาวและชาวไทย จัดขึ้นในลำน้ำโขง บริเวณหน้าเขื่อนนครพนม มีระยะทางแข่งขัน 3 กิโลเมตร ในร่องน้ำที่ไหลเชี่ยวยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ชนะคือผู้เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง



งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม 
(เฮือไฟ) จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดริมแม่น้ำโขงบริเวณเขตเทศบาล การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า “วันพระเจ้าโปรดโลก” พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า “อจลเจดีย์” (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีตำนานการไหลเรือไฟที่แตกต่างกันก็ถือว่าทำให้ได้รับอานิสงฆ์เหมือนกัน เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วงจะเป็นภาพที่งดงามติดตาติดใจผู้พบเห็นไปตราบนานเท่านาน ไม่มีที่ไหนๆ ในประเทศไทยจะยิ่งใหญ่เหมือนที่จังหวัดนครพนม



ประเพณีแสกเต้นสาก 
เป็นประเพณีของชนเผ่าแสกที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอาจสามารถ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 4 กิโลเมตร ประเพณีแสกเต้นสากเป็นการเต้นบวงสรวงเจ้าที่จะเต้นการเป็นประจำทุกปี ในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ การแสกเต้นสากนอกเทศกาลจะต้องทำพิธีขอขมาก่อน ของที่ใช้ ได้แก่ หัวหมู เงิน 20 บาท และเหล้า ซึ่งจะทำพิธีที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้านโดยการเสี่ยงทายไม้สี ถ้าได้สีเดียวกันแสดงว่าเจ้าไม่อนุญาต การเต้น “แสกเต้นสาก” ใช้ไม้สีแดงสลับขาวเรียก “สาก” นำด้วยเสียงกลองจังหวะเร็ว ผู้เต้นจะซอยเท้าถี่ๆลงไปตามจังหวะการกระทบไม้คล้ายการเต้นลาวกระทบไม้แต่จะเร็วกว่ามาก



ประเพณีโส้ทั้งปั้น 
เป็นประเพณีของพวกโซ่ (โส้) การเต้นโส้ทั้งปั้นนี้เป็นการรำในงานศพเพื่อที่จะส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สุคติ การเต้นรำมีทั้งชายและหญิง พวกโซ่เป็นชนเผ่าข่าพวกหนึ่ง ลักษณะผิวคล้ำ มีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาที่ใช้คล้ายภาษามอญปนเขมร หมู่บ้านชาวโส้นี้ตั้งอยู่ที่บริเวณอำเภอท่าอุเทน อำเภอนาแก และอำเภอศรีสงคราม



งานนมัสการพระธาตุพนม
กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 10 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งงานหนึ่งของชาวนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง

น้ำตกตาดโพธิ์ อ.บ้านแพง



น้ำตกตาดโพธิ์

อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวันครพนม น้ำตกตาดโพธิ์ ไหลจากห้วยลังกาซึ่งมาจากเทือกเขาภูลังกาที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดเป็นน้ำตกที่งดงามไหลเป็นชั้นๆ จำนวน 4 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปทำให้น่าเที่ยวชมให้ครบทั้ง 4 ชั้น จากลานจอดรถ เดินเท้าจากถึงน้ำตกชั้นที่ 1 ประมาณ 100 เมตร และจากชั้น 1 เดินต่อไป ระยะทาง 200 เมตร ถึงชั้นที่ 2 ระยะทาง 1,700 เมตร ถึงชั้นที่ 3 ระยะทาง 2,000 เมตร ถึงชั้นที่ 4 น้ำตกชั้นที่ 4 มีความสูงที่สุด ประมาณ 50 เมตร ซึ่งในฤดูฝนสามารถมองเห็นได้จากถนนสายนครพนม-หนองคาย โดยเห็นได้ชัดเจนและมีความสวยงาม ระหว่างทางเดินจากชั้นที่ 1-4 จะมีดอกไม้ป่าและผีเสื้อชนิดต่างๆ ให้ชมในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ของทุกปี



การเดินทาง

 อุทยานแห่งชาติภูลังกาตั้งขนานกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (นครพนม-บ้านแพง-หนองคาน) ประมาณ 105 กิโลเมตร ห่างจากก้าวจังหวัดหนองคาย 220 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอบ้านแพงประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทางไปภูลังกาสะดวกสบายทุกฤดูกาล ถ้าตั้งต้นจากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง คือ กรุงเทพ-อุดร-พังโคน-วานรนิวาส-เซกา-บ้านแพง หรือจะใช้เส้นทาง กรุงเทพ-สกลนคร-นครพนม-บ้านแพง  น้ำตกตาดโพธิ์อยู่ใกล้กับน้ำตกตาดขาม ห่างกันประมาณ 4 กิโลเมตร ที่พักและร้านอาหารมีบริการที่บริเวณใกล้เคียงคือน้ำตกตาดขาม



ที่สี่แยกบ้านไผ่ล้อม  บนทางหลวงแผ่นดิน 212  บ้านแพง - บึงกาฬ  กม. ที่ 6 
เลี้ยวซ้ายทางไปสู่  น้ำตกตาดขาม  อุทยานแห่งชาติภูลังกา
จะสังเกตุเห็น เทือกเขาภูลังกา  อยู่ในฉากหลัง



สถานีใบยาบ้านแพง  โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง



สี่แยกบ้านไผ่ล้อม  ทางทิศเหนือของอำเภอบ้านแพง 6  กิโลเมตร
บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 ช่วง อำเภอบ้านแพง - จังหวัดบึงกาฬ



จากถนนด้านหน้า อบต.ไผ่ล้อม  ตรงไปอีก 4.5  กิโลเมตร  ก็จะถึง น้ำตกตาดโพธิ์



สุดบ้านไผ่ล้อม  จะเป็นเส้นทางไป น้ำตกตาดโพธิ์  อุทยานแห่งชาติภูลังกา



เทือกเขาภูลังกา  อยู่เบื้องหน้า



ภาพความสวยงามตามธรรมชาติ  ของป่าไม้  ในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา



สุดถนน  จะพบทางสามแยก  เลี้ยวซ้ายไปน้ำตกตาดขาม เลี้ยวขวาไปน้ำตกตาดโพธิ์



เส้นทางไป น้ำตกตาดโพธิ์  อุทยานแห่งชาติภูลังกา



สะพานแคบ  ทางเข้าสู่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูลังกา



ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูลังกา
ตำบลไผ่ล้อม  อำเภอบ้านแพง  จังหวัดนครพนม



ทางเดินไป  น้ำตกตาดโพธิ์



เฟิร์น สีสวยในป่าข้าง ๆ   น้ำตกตาดโพธิ์



ตรงนี้เอง  ที่ตั้งของ  " น้ำตกตาดโพธิ์  "



 น้ำตกตาดโพธิ์  ในช่วงที่มีน้ำน้อย  แต่ก็สวยงามดี



น้ำตกตาดโพธิ์ จะสวยในช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม  ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว